4.2 รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดอุปนัย

4.2  รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดอุปนัย (Inductive Thinking Instructional Model)            

ก.  ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ                
รูปแบบนี้ จอยส์ และ วีล (Joyce & Weil, 1996: 149-159) พัฒนาขึ้นโดยใช้แนวคิด ของทาบา (Taba, 1967: 90-92) ซึ่งเชื่อว่าการคิดเป็นสิ่งที่สอนได้ การคิดเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลกับข้อมูล และกระบวนการนี้มีลำดับขั้นตอนดังเช่นการคิดอุปนัย จะต้องเริ่มจากการ สร้างความคิดรวบยอด หรือมโนทัศน์ก่อน แล้วจึงถึงขั้นการตีความข้อมูล และสรุป  ต่อไปจึงนำข้อสรุปหรือหลักการที่ได้ไปประยุกต์ใช้
ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ                 
รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาการคิดแบบอุปนัยของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิด ดังกล่าวในการสร้างมโนทัศน์และประยุกต์ใช้มโนทัศน์ต่าง ๆ ได้            
ค.  กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
ขั้นที่ 1 การสร้างมโนทัศน์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนย่อย คือ 
1.1 ให้ผู้เรียนสังเกตสิ่งที่จะศึกษาและเขียนรายการสิ่งที่สังเกตเห็น หรืออาจใช้วิธี อื่นๆ เช่น ตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ ในขั้นนี้ผู้เรียนจะต้องได้รายการของสิ่งต่าง ๆ ที่ใช่หรือไม่ใช่ตัวแทน ของมโนทัศน์ที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้                   
1.2  จากรายการของสิ่งที่เป็นตัวแทนและไม่เป็นตัวแทนของมโนทัศน์นั้น ให้ผู้เรียน จัดหมวดหมู่ของสิ่งเหล่านั้น โดยการกำหนดเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม ซึ่งก็คือคุณสมบัติที่เหมือนกันของสิ่ง เหล่านั้น ผู้เรียนจะจัดสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมือนกันไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน                   
1.3  ตั้งชื่อหมวดหมู่ที่จัดขึ้น  ผู้เรียนจะต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นหัวข้อใหญ่ อะไรเป็น หัวข้อย่อย และตั้งชื่อหัวข้อให้เหมาะสม         
 ขั้นที่ 2  การตีความและสรุปข้อมูล  ประกอบด้วย 3 ขั้นย่อยดังนี้                    
2.1 ระบุความสัมพันธ์ของข้อมูล  ผู้เรียนศึกษาข้อมูลและตีความข้อมูลเพื่อให้เข้าใจ ข้อมูล และเห็นความสัมพันธ์ที่สำคัญ ๆ ของข้อมูล
2.2  สำรวจความสัมพันธ์ของข้อมูล ผู้เรียนศึกษาข้อมูลและความสัมพันธ์ของข้อมูล ในลักษณะต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์ในลักษณะของเหตุและผล ความสัมพันธ์ของข้อมูลในหมวดนี้กับ ข้อมูลในหมวดอื่น จนสามารถอธิบายได้ว่าข้อมูลต่าง ๆ สัมพันธ์กันอย่างไรและด้วยเหตุผลใด
2.3  สรุปอ้างอิง  เมื่อค้นพบความสัมพันธ์หรือหลักการแล้ว ให้ผู้เรียนสรุปอ้างอิง โดยโยงสิ่งที่ค้นพบไปสู่สถานการณ์อื่น ๆ 
ขั้นที่ 3  การประยุกต์ใช้ข้อสรุปหรือหลักการ                     
3.1  นำข้อสรุปมาใช้ในการทำนาย หรืออธิบายปรากฏการณ์อื่น ๆ และฝึก ตั้งสมมติฐาน                        
3.2  อธิบายให้เหตุผลและข้อมูลสนับสนุนการทำนายและสมมติฐานของตน
1.3  พิสูจน์ ทดสอบ การทำนายและสมมติฐานของตน           
ง.  ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ               
 ผู้เรียนจะสามารถสร้างมโนทัศน์และประยุกต์ใช้มโนทัศน์นั้นด้วยกระบวนการคิดแบบ อุปนัย และผู้เรียนสามารถนำกระบวนการคิดดังกล่าวไปใช้ในการสร้างมโนทัศน์อื่น ๆ ต่อไปได้


ความคิดเห็น