4.3 รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์

4.3  รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Synectics Instructional Model)            

ก.  ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ     

รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์นี้ เป็นรูปแบบที่จอยส์ และ วีล (Joyce and Weil, 1966: 239-253) พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดของกอร์ดอน (Gordon) ที่กล่าวว่า บุคคลทั่วไปมักยึดติดกับวิธีคิดแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ของตน โดยไม่ค่อยคำนึงถึงความคิดของคนอื่น ทำให้การคิดของตนคับแคบและไม่สร้างสรรค์ บุคคลจะเกิดความคิดเห็นที่สร้างสรรค์แตกต่างไปจาก เดิมได้ หากมีโอกาสได้ลองคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือคิดโดยสมมติตัวเองเป็นคน อื่น และถ้ายิ่งให้บุคคลจากหลายกลุ่มประสบการณ์มาช่วยกันแก้ปัญหา ก็จะยิ่งได้วิธีการที่กลากหลาย ขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นกอร์ดอนจึงได้เสนอให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดแก้ปัญหาด้วย แนวความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม  ไม่อยู่ในสภาพที่เป็นตัวเอง  ให้ลองใช้ความคิดในฐานะที่เป็นคน อื่น หรือเป็นสิ่งอื่น  สภาพการณ์เช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดใหม่ ๆ ขึ้นได้ กอร์ดอนเสนอ วิธีการคิดเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปมัยเพื่อใช้ในการกระตุ้นความคิดใหม่ ๆ ไว้ 3 แบบ คือ การ เปรียบเทียบแบบตรง  การเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ  และการเปรียบเทียบคำคู่ขัดแย้ง  วิธีการนี้มี ประโยชน์มากเป็นพิเศษสำหรับการเขียนและการพูดอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งการสร้างสรรค์งานทาง ศิลปะ          
ข.  วัตถุประสงค์ของรูปแบบ                
รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดที่ใหม่ แตกต่างไปจากเดิม และสามารถนำความคิดใหม่นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้          
ค.  กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
ขั้นที่ 1  ขั้นนำ  ผู้สอนให้ผู้เรียนทำงานต่าง ๆ ที่ต้องการให้ผู้เรียนทำเช่น ให้ เขียน บรรยาย เล่าทำแสดง วาดภาพ สร้าง ปั้น เป็นต้น ผู้เรียนทำงานนั้น ๆ ตามปกติที่เคยทำเสร็จแล้วให้เก็บ ผลงานไว้ก่อน 
ขั้นที่ 2  ขั้นการสร้างอุปมาแบบตรงหรือเปรียบเทียบแบบตรง  ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียน เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง เช่น ลูกบอลกับมะนาว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คำคู่ที่ผู้สอนเลือกมาควรให้มีลักษณะที่สัมพันธ์กับเนื้อหาหรืองานที่ให้ผู้เรียนทำในขั้นที่ 1 ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ ผู้เรียนเปรียบเทียบหลาย ๆคู่ และจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน
ขั้นที่ 3  ขั้นการสร้างอุปมาบุคคลหรือเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ  ผู้สอนให้ผู้เรียนสมมติ ตัวเองเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และแสดงความรู้สึกออกมาเช่น ถ้าเปรียบเทียบผู้เรียนเป็นเครื่องซักผ้า จะรู้สึก อย่างไร  ผู้สอนจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน
ขั้นที่ 4  ขั้นการสร้างอุปมาคำคู่ขัดแย้ง  ผู้สอนให้ผู้เรียนนำคำหรือวลีที่ได้จากการ เปรียบเทียบในขั้นที่ 2 และ 3 มาประกอบกันเป็นคำใหม่ที่มีความหมายขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น ไฟ เย็น น้ำผึ้งขม มัจจุราชสีน้ำผึ้ง เชือดนิ่ม ๆ เป็นต้น
ขั้นที่ 5  ขั้นการอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้ง  ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันอธิบาย ความหมายของคำคู่ขัดแย้งที่ได้
ขั้นที่ 6  ขั้นการนำความคิดใหม่มาสร้างสรรค์งาน  ผู้สอนให้ผู้เรียนนำงานที่ทำไว้เดิมในขั้น ที่ 1 ออกมาทบทวนใหม่ และลองเลือกนำความคิดที่ได้มาใหม่จากกิจกรรมขั้นที่ 5 มาใช้ในงานของตน ทำให้งานของตนมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น           

ง.  ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ     
ผู้เรียนจะเกิดความคิดใหม่ ๆ และสามารถนำความคิดใหม่ ๆ นั้นไปใช้ในงานของตน ทำให้งานของตนมีความแปลกใหม่ น่าสนใจมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้เรียนอาจเกิดความตระหนักในคุณค่า ของการคิด และความคิดของผู้อื่นอีกด้วย 

ความคิดเห็น